ทำไมเทรดแล้วถึงโดน Slippage แล้ว Slippage คืออะไร? เป็นการตุกติกของโบรกเกอร์จริงมั้ย ทำความเข้าใจแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับ Slippage ในการเทรด Forex
Slippage คืออะไร?
สังเกตไหมวันไหนที่ราคาวิ่งแรง ๆ โดยเฉพาะทองคำ และยิ่งถ้าเราเปิดเทรดข้ามวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แล้ววันจันทร์ตลาดเปิด Gap ก้าวกระโดด มักจะเห็นโพสต์ขึ้นตามกลุ่มใน Facebook บ่อย ๆ ว่าเจอ Slippage บ้าง หลายคนสอบกองทุน Forex ก็เคยตกกฎเรื่อง DD เพราะ slippage ลาก SL จนติดลบเกินกฎ และทำพอร์ตปลิว จนเป็นบทเรียนให้จำขึ้นใจ แต่หลายคนยังไม่เข้าใจว่า Slippage เป็นเรื่องปกติ คือเกิดขึ้นได้กับทุกคู่และเกิดขึ้นได้กับทุกโบรกเกอร์ แค่เราต้องระมัดระวังให้ดี ๆ
ในการเทรดทั่วไป สลิปเพจ หรือ Slippage คือ การที่มีความคลาดเคลื่อนระหว่างราคาที่เราส่งคำสั่งเพื่อซื้อหรือขายและราคาที่ระบบดำเนินการจริง ๆ
เช่น สมมติว่าคุณ Buy คู่ EUR/USD ที่ 1.3605 แต่ราคาที่ได้จริง ๆ กลับเป็น 1.3615 แปลว่ามี Slippage เกิดขึ้น 10 ปิป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในการเทรดทั่วไปนั้น เวลาเราเทรดอะไร หากเราซื้ออะไรบางอย่าง 1 หน่วย ก็จะต้องมีคนขาย 1 หน่วยนั้นให้กับเราเสมอ จึงจะเกิดเป็นการจับคู่หรือ match กันได้ แต่ถ้าในกรณีที่เราอยากจะซื้อที่ราคา 1.3600 แต่ไม่มีผู้ขายราคานี้เป๊ะ ๆ ให้กับเรา การ match กันก็จะไม่เกิดขึ้น หรือผู้ซื้อจำต้องยอมรับราคาของผู้ขายในตลาดจริง ๆ นั่นเอง
ดังนั้น ในตลาดฟอเร็กซ์ เราจะเจอกับสิ่งนี้ได้ทั้งในช่วงเวลาตลาดไม่มีความสมดุล คือเป็นช่วงที่ราคากระชากหนัก ๆ หรืออาจเป็นช่วงที่คนเทรดน้อยมาก จะสังเกตเห็นได้จากการเปิดคำสั่งประเภท Market Order (คือเปิดเทรด ณ ตอนนั้นเลย) แล้วระบบหยุดชะงักสักพักหนึ่งจนกว่าออเดอร์จะเปิดขึ้นมา เราจะเห็นได้ว่าราคาที่เราได้จริงอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการแต่แรก เป็นต้น หรือกรณีที่คนผิดหวังบ่อย ๆ คือราคาวิ่งไปกิน SL ของเราแต่เงินที่ขาดทุนกลับมากกว่าที่เราตั้ง SL ไว้ ทำให้คนมักกล่าวโทษโบรกเกอร์บ่อย ๆ

Slippage เกิดขึ้นเพราะอะไร?
Slippage เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ และอาจทำให้ใครต่อหลายคนหงุดหงิดได้ง่าย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด slippage นั้นมีหลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ ความผันผวนในตลาด สภาพคล่อง ประเภทบัญชีที่เราเทรด หรือแม้แต่ประเภทการส่งออเดอร์เข้าตลาด
ปัจจัยเรื่องความผันผวนและสภาพคล่องในตลาด
ความผันผวนในตลาดดูง่าย ๆ คือ ถ้าราคาวิ่งไม่ไกลจากกันเท่าไหร่คือมีความผันผวนน้อย ส่วนความผันผวนมากคือช่วงที่ราคาวิ่งดี ๆ มีไหลขึ้น ไหลลง บางคู่เงินจะถือว่ามีความผันผวนสูง เช่น ทองคำ (XAU/USD) จึงเป็นสาเหตุที่คนมักนิยมเทรดมากกว่า เพราะมันเปิดช่องหรือโอกาสให้ทำเงินได้ดี
แต่ความผันผวนสูงในตลาดนั้นไม่ใช่เฉพาะในช่วงที่มีคนซื้อขายกันมากเท่านั้น ในช่วงที่ตลาดขาดสภาพคล่อง คือ ไม่มีคนเทรดหรือมีปริมาณการเทรดน้อยมากก็ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนของราคาสูงได้เช่นกัน เช่น ในช่วงใกล้การประกาศข่าวที่คนมักจะหยุดพักรอกราฟกระชาก หรือช่วงเดือนวันหยุดคริสต์มาสปีใหม่ในเดือนธันวาคม
ปัจจัยเรื่องประเภทบัญชีที่เทรด
คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเทรดใหม่ ๆ อาจเริ่มจากบัญชีประเภท Standard หรือ Classic ซึ่งเป็นบัญชีประเภทมาตรฐานทั่วไป ซึ่งโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มักจะคิดค่าสเปรดและกำหนดความเร็วในการส่งออเดอร์เข้าตลาดแบบระดับปกติ ไม่มีความเร็วแบบพิเศษอะไร บัญชีพวกนี้จึงเจอค่าสเปรดได้ง่ายกว่า
ส่วนสำหรับคนที่เทรดบัญชีประเภท ECN และ STP ที่เป็นพวกเทรดขาประจำ เข้า ๆ ออก ๆ บ่อย ๆ พวกนี้จะมีค่าสเปรดที่ค่อนข้างต่ำมากและยังมักจะได้สิทธิ์เรื่องการส่งออเดอร์คำสั่งที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าที่เราเทรดบัญชีปกติกันด้วย
Slippage ส่งผลต่อการเทรดได้ยังไงบ้าง?
ด้วยการที่ Slippage นั้นเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สถานการณ์ที่พบบ่อยคือช่วงที่มีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ หรือมีข่าวสำคัญ ๆ พอมันเกิดขึ้นจริง Slippage จะกลายเป็นต้นทุนแอปแฝงในการเทรดได้เสมอที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เราต้องจ่ายอยู่แล้วคือ ค่าสวอป หรือค่าสเปรด
เช่น ถ้าคู่ที่คุณเทรดมีค่าสเปรดอยู่ที่ 0.9 แล้วถ้าเกิดคุณตั้งใจจะเปิดเทรดคู่ EUR/USD ที่ 1.3600 แต่ราคาเปิดจริงที่ได้กลับเป็น 1.3605 แสดงว่าคุณเจอ Slippage ไปทั้งหมด 5 Pips (หรือ 50 จุด) ถ้ารวมกับค่าสเปรดแปลว่าจะต้องเสีย 59 Pips ซึ่งมันกระทบกับคนเทรดทุกสไตล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เทรดสั้นหรือเดย์เทรดที่อาจทำให้กำไรกลายเป็นศูนย์ได้ ดังนั้นคนที่เน้นเทรดสั้นจึงต้องระวังและเฝ้าดูสถานการณ์ในตลาดดี ๆ เสมอ
แต่จะบอกให้ว่า Slippage ไม่ได้ส่งผลลบอย่างเดียวนะ ถ้าเกิดราคากระโดดข้าม Take Profit ของเราไปได้เช่นกัน เช่น ในกรณีที่ถ้าเราตั้งคำสั่ง Buy ของ EUR/USD และตั้ง TP ไว้ที่ 1.3650 แล้วเกิดราคากระชากขึ้นไปจนระบบดำเนินคำสั่งให้เราได้ราคาที่ 13.655 เราก็จะได้กำไร 5 ปิปมาแบบฟรี ๆ ซึ่งตรงนี้คนมักไม่ค่อยสังเกตเห็นกัน
คู่เงินไหนเจอ Slippage น้อยที่สุด?
โดยส่วนใหญ่แล้ว Slippage ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสภาพคล่องที่ต่ำ คือ มีกิจกรรมการซื้อขายน้อย Slippage จึงจะเกิดขึ้นกับคู่เงินที่คนไม่นิยมเทรดกันเท่าไรนัก ดังนั้น Slippage จะมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่ากับคู่แปลก ๆ (Exotics Pairs) เช่น USD/ZAR, USD/RUB
และคู่ที่เทรดแล้วจะเจอ Slippage น้อยที่สุดคือคู่ที่คนนิยมซื้อขายบ่อย ๆ มีเงินสะพัดหรือมีสภาพคล่องสูงอย่าง EUR/USD, GBP/USD, USD/JPY, USD/CHF, AUD/USD, NZD/USD และ USD/CAD
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่าคู่ยอดนิยมเหล่านี้จะไม่เกิด Slippage เพราะยังมีอีกหลายสาเหตุให้เกิดขึ้นได้ ทั้งช่วงเวลาที่เทรด ช่วงการประกาศข่าว ฯลฯ เพียงแต่ในภาพรวมนั้นมันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าคู่ Exotics
หลีกเลี่ยง Slippage ยังไง?
อย่างที่บอกไปแล้วว่า Slippage นั้นเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงแทบจะไม่ได้เลย ต่อให้คุณย้ายโบรกเกอร์ไปกี่โบรกก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือจำกัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เช่น
- หลีกเลี่ยงที่จะเทรดในช่วงการประกาศข่าวสำคัญ ๆ ดังนั้น เราจะต้องคอยสังเกตปฏิทินเศรษฐกิจ (Economic Calendar) ซึ่งโบรกเกอร์ทั่วไปมีให้บริการว่าช่วงไหน วันไหนที่มีการประกาศข่าวอะไรที่สำคัญ ถ้าใครสอบกองทุน Forex บางบริษัทอย่าง FTMO จะคาดแถบสีแดงในปฏิทินไว้เลยว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ห้ามเทรด ไม่เช่นนั้นจะถือว่าละเมิดกฎ
- ให้เน้นเทรดในช่วงที่มีความผันผวนต่ำแต่มีสภาพคล่องสูง ผันผวนต่ำก็คือราคาค่อย ๆ วิ่งแบบไม่กระชากรุนแรง มีสภาพคล่องสูงก็คือมีปริมาณการเทรดมาก เทรดเดอร์มืออาชีพมักจะเน้นเทรดตามเวลาตลาดขึ้นอยู่กับโซน เช่น บางคนเน้นเทรดช่วงตลาดลอนดอนเปิดทำการ หรือตลาดนิวยอร์กเปิดทำการ หรืออาจเป็นช่วงเวลาที่สองตลาดนี้คาบเกี่ยวกัน (ช่วงหนึ่งทุ่ม-ห้าทุ่มตามเวลาไทย) ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณการเทรดมากที่สุด
- Slippage ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะการส่งคำสั่งเข้าตลาดประเภท Market Order (ซื้อขายทันที) อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราได้ราคาที่ตรงกับที่เราต้องการคือการตั้งคำสั่งประเภท Limit Order แทน เช่นพวก Buy Limit หรือ Sell Limit ซึ่งเราจะมีโอกาสได้ราคาที่ตรงกับราคาที่ต้องการหรือราคาที่ดีกว่า
- เทรดเดอร์ประเภทที่ใช้ EA หรือใช้อัลกอริธึมมาช่วยเทรดก็ใช้วิธีเช่าเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว (VPS) เพื่อให้แน่ใจว่าได้ราคาที่แม่นยำ และส่งเข้าตลาดแบบรวดเร็วชนิดเสี้ยววินาที

Slippage แบบได้กำไรก็มีนะรู้มั้ย?
Slippage ไม่ได้มีแค่เราจะต้องขาดทุนหรือติดลบอย่างเดียวเท่านั้น ที่เราคุ้นเคยภาพเช่นนี้อาจเป็นเพราะเวลาที่ Slippage แบบบวกเกิดขึ้นเราไม่ได้สังเกตมัน หรือคนไม่ได้ออกมาบ่นให้ฟัง
Slippage ที่เป็นบวกคือกรณีที่เราได้ราคาที่ดีกว่าราคาที่เราตั้งไว้ และเกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อยในกรณีที่เราตั้งคำสั่งประเภท Limit Orders เช่น ถ้าเกิดเราตั้งค่า Buy Limit ไว้ที่ 1.3602 แล้วราคาเปิดจริง ๆ ที่ได้คือ 1.3600 อย่างนี้จะแปลว่าเราจะได้ราคาที่ดีกว่าที่เราตั้งค่าไว้
บทสรุป
สรุปคือ Slippage คือ ความคลาดเคลื่อนของราคาที่เราตั้งใจจะซื้อหรือขายกับราคาที่เราได้จริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับโบรกเกอร์ทุกเจ้าไม่ว่าเราจะเทรดเจ้าไหน คนที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือคนที่เน้นเทรดสั้น สาย scalping ถึงแม้จะไม่มีวิธีหลีกเลี่ยงได้โดยสิ้นเชิง แต่ที่ทำได้คือไม่เทรดในช่วงที่มีข่าวแรง ๆ หรือช่วงที่ตลาดสงบ เช่น วันหยุดคริสต์มาส ไม่เปิดข้ามสุดสัปดาห์ก็จะช่วยจำกัดความเสี่ยงได้
และที่สำคัญ Slippage สำหรับคนที่สอบกองทุนคือ ถ้าให้ดีต้องปิดเทรดแบบจบวันก่อนตลาดปิดเพื่อหลีกเลี่ยง slippage ช่วงเปิด gap เพราะไม่อย่างนั้นอาจลากกินจะผิดกฎ DD ได้ จึงต้องวางแผนการเปิดออเดอร์ให้ดี ๆ