รวบรวมขั้นตอนการเทรด Forex ตั้งแต่เริ่มต้น เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มหัดเทรด Forex วิธีเทรด Forex เบื้องต้น
บทนำ
คนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเทรด Forex เพราะเชื่อว่าตลาดนี้ล่ะจะเป็นเครื่องมือให้ตนเองทำเงินได้แบบรวดเร็ว พอเริ่มรู้จักเกี่ยวกับการเทรดก็จะรีบหาโบรกเกอร์ เปิดบัญชี ลองเทรดกันแบบไม่ตั้งใจศึกษาข้อมูลหรือทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานใด ๆ ทั้งสิ้น คนเหล่านี้มัก
- เปิดเทรดแบบตามอารมณ์ คิดแค่ว่ามันไม่ buy ก็ sell เทรดแบบไม่ต่างอะไรกับการพนัน
- โอเวอร์เทรด (overtrade) ออกล็อตเยอะไว้ก่อน ชอบเวลามันขึ้นลงไว ได้ลุ้น รู้สึกสนุก
- ไม่รู้ว่าควรออกล็อตเท่าไหร่ คำนวณไม่เป็น ออกล็อตใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตามอารมณ์
- ซอยไม้ ขยันเปิดออเดอร์ถี่ ๆ ติด ๆ กัน ตั้งใจโลภอยากได้กำไรเยอะ ๆ
- ตามซิกแน่ลคนอื่นแต่คำนวณ Lot ตนเองยังไม่เป็น
- สนใจแต่เทคนิค ไม่สนใจเรื่อง Money Management (MM)
- อยากได้กลยุทธ์แบบ win rate สูง ๆ เท่านั้น โดยไม่เข้าใจเรื่อง RRR
- ไม่เข้าใจเรื่องค่าสเปรด, สวอป, slippage คิดว่าโบรกเกอร์ตุกติกเสมอ
คนเหล่านี้ เทรดได้กำไรคือโชคดี แต่ยังไงยากที่จะทำกำไรได้แบบยั่งยืนในตลาด สุดท้ายมักจะนำไปสู่จุดจบแบบเหมือน ๆ กันคือล้างพอร์ตซ้ำ ๆ
ถ้าคุณตั้งใจจะเดินเส้นทางนี้จริง ๆ ต้องไม่ลืมว่าไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ อยากเล่นเกมนี้ก็ต้องเข้าใจกติกาให้รอบด้าน และอย่าเริ่มเทรดด้วยเงินจริงโดยไม่มีความรู้อะไรเลยเด็ดขาด!
การเทรด Forex มีความเสี่ยงสูง ไม่ต่างอะไรกับการเทรดหุ้น เทรดคริปโต หรือแม้แต่การลงทุนในกิจการทั่วไป คือ แม้แต่คนที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการเทรดก็ยังต้องคอยศึกษาและทบทวนความรู้ในตลาดอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น ถ้าพอมีเวลาก็อยากให้ทุกคนตั้งใจอ่านคู่มือ วิธีเทรด Forex เบื้องต้น ผู้เขียนพยายามครอบคลุมเรื่องพื้นฐานที่เทรดเดอร์มือใหม่จำเป็นต้องรู้มากที่สุด ถ้าใครอยากอ่านศึกษาแบบละเอียดก็ลองดูลิงก์บทความที่เกี่ยวข้องของแต่ละเรื่องได้เลย จะพยายามทยอยเขียนบทความฉบับละเอียดแต่ละเรื่องและลงให้
ทำไมคนชอบเทรด Forex?
ตลาด Forex หรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด หรือพูดง่าย ๆ คือมีปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดมากที่สุด ลองนึกกันดูว่าแต่ละประเทศมีค่าเงินเป็นของตนเอง และต้องมีการซื้อขายกับค่าเงินประเทศต่าง ๆ ทั้งดอลลาร์ ยูโร หยวน เยน ปอนด์ บาท ฯลฯ ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทั้งหมดแล้วมันจะมหาศาลขนาดไหน
ในอดีตการซื้อขายค่าเงินนั้นจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ คือมีแค่สถาบันการเงิน เหล่าธนาคาร โบรกเกอร์ใหญ่ ๆ ที่เทรดในตลาดนี้ แต่พัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ตและการเกิดขึ้นของธุรกิจโบรกเกอร์ออนไลน์ช่วยเปิดประตูการเทรด Forex รวมถึงหุ้น ฟิวเจอร์ส ออปชั่น และอื่น ๆ ให้เป็นสิ่งที่นักเทรดรายย่อยอย่างเรา ๆ เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
แล้วเพราะอะไรการเทรด Forex ถึงเป็นที่นิยมมาก?
- ผลตอบแทนน่าดึงดูด – ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคนที่เข้ามาในตลาดนี้ล้วนหวังจะหาเงินกำไรแบบสูง ๆ ง่าย ๆ กันทั้งนั้น การเทรด Forex ให้ผลตอบแทนสูงได้ เพราะมันมีเครื่องมือที่เรียกว่า Leverage Ratio หรืออัตราทด Leverage นี้เองที่เป็นพลังวิเศษที่ใช้ส่วนหนึ่งของเงินต้นของเราเป็นหลักประกันเพื่อให้สามารถเทรดจำนวนเงินที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่เรามีได้ ดังนั้นถ้าเราเทรดถูกทาง ก็จะทวีคูณผลกำไรได้หลายเท่า แต่ถ้าผิดทางก็ติดลบแบบมหาศาลได้เช่นกัน
- ใช้เงินลงทุนไม่ต้องเยอะ – ปัจจัยที่ทำให้โบรกเกอร์ Forex เติบโตและคนนิยมมาเทรดกันก็คือ มันใช้เงินลงทุนขั้นต่ำน้อย คนเลยเข้ามาเริ่มลองหัดเทรกันได้ไม่ยาก หลายโบรกเกอร์กำหนดเงินฝากขั้นต่ำแค่ $10 หรือประมาณ 350 บาทก็เทรดได้แล้ว จึงดึงดูดให้คนที่สนใจเข้ามาลองหาประสบการณ์ในตลาดนี้ได้ง่าย ๆ
- ความสะดวกสบายในการเทรด – ต้องยอมรับว่าโบรกเกอร์ตามอินเทอร์เน็ตทั่วไปแข่งกันทำให้การเทรด Forex สะดวกขึ้นมาก แค่เปิดบัญชี เติมเงิน โหลดแอป ก็เทรดได้แล้ว ถ้าเทียบกับการเทรดสัญญาฟิวเจอร์สหรือออปชั่น (TFEX) การเทรด Forex ถือว่ามีขั้นตอนการเปิดบัญชีที่ซับซ้อนน้อยกว่ามาก ไหนจะมีสารพัดโบรกเกอร์/ตัวแทนที่ช่วยสอนเทรด (แลกกับการลงทะเบียนผ่าน IB Partner เพื่อผู้สอนจะได้ค่าคอมมิชชั่น) คอร์สสอนเทรด และมี online community ที่คอยให้ความรู้และคอยตอบคำถามให้คุณได้ตลอด สิ่งเหล่านี้เลยทำให้ธุรกิจนี้คึกคักในบ้านเราได้ไม่ยาก
ปัจจัยทั้งหมดนี้มันทำให้ตลาด Forex มีเสน่ห์เย้ายวนคนที่อยากท้าทายกับมัน เพราะมันอาจเป็นประตูและโอกาสในการสร้างอาชีพ งานอดิเรก และแหล่งรายได้เสริมให้กับใครก็ได้ แต่เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องก็ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงและอันตรายมากมายเช่นกัน มือใหม่ทุกคนจึงต้องระมัดระวังศึกษารายละเอียดทุกแง่มุมให้ดี ๆ จะได้ไม่พลาด หรือถ้าพลาดก็พลาดแค่เพราะเราเทรดเสียเอง ไม่ใช่เพราะตกเป็นเหยื่อของใครอื่น
มือใหม่เทรด Forex ต้องระวังอะไรบ้าง?
การเทรด Forex ยังอยู่ในพื้นที่สีเทาไปทางดำในแง่ของกฎหมาย เพราะตามหลักกฎหมายแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประกาศเตือนมาแล้วว่า ธปท. ไม่เคยมีการออกใบอนุญาตให้แก่นิติบุคคลใด ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ให้ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ดังนั้น โบรกเกอร์ฟอเร็กซ์ที่เราเทรดกันออนไลน์ทั้งหลายนั้นจึงเป็นโบรกเกอร์ที่ unregulated หรือไม่ได้รับการกำกับดูแลโดยหน่วยงานใด ๆ ในประเทศไทย จึงทำให้เกิดสารพัดความเสี่ยงที่เราต้องแบกรับไว้เพียงผู้เดียว เช่น
- ถ้าเกิดเรามีปัญหาถอนเงินไม่ได้ หรือมีข้อพิพาทใด ๆ เราจะต้องดำเนินการกับโบรกเกอร์โดยตรง (ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ว่าจดทะเบียนที่ไหน และมีคณะกรรมการหรือหน่วยงานไหนกำกับดูแลโบรกเกอร์นั้นหรือไม่)
- หากวันดีคืนดี โบรกเกอร์ปิดให้บริการ หนีหายไป โอกาสที่จะตามเงินกลับคืนมาแทบเป็นศูนย์
ดังนั้น ถ้าใครอยากเทรดจริง ๆ การเลือกโบรกเกอร์ที่ดีจึงเป็นด่านแรกที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องเลือกโบรกเกอร์ที่มีใบอนุญาต ซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศที่ไว้ใจได้จะดีมากที่สุด เปิดให้บริการมายาวนาน และมีชื่อเสียงที่ดี หลีกเลี่ยงโบรกเกอร์ No Name ที่ใคร ๆ ก็ไม่รู้จัก หรือประเภทโบรกเกอร์หน้าใหม่ที่ให้สัญญาผลตอบแทนสูงน่ากลัว ๆ เน้นโฆษณาเลเวอเรจสูงสุดขั้วจะดีที่สุด
มีอะไรอีกบ้างที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ?
- ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการระดมทุนที่แอบอ้างว่านำเงินไปลงทุนใน Forex เด็ดขาด! ตัวอย่างในข่าวดังอย่าง Forex 3D เป็นต้น อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการระดมเงินลงทุนใด ๆ ทั้งคริปโตหรือฟอเร็กซ์ที่โฆษณาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงหลายเปอร์เซ็นต์ พวกนี้ล้วนเป็นแชร์ลูกโซ่ทั้งสิ้น ไม่มีการนำเงินไปลงทุน และไม่มีการเทรดเกิดขึ้นจริง ๆ แต่อย่างใด
- ไม่ฝากเงินของตนเองให้คนอื่นเทรดแทนให้เด็ดขาด ไม่มีอะไรการันตีว่าคุณจะได้กำไร และ 99.99% ของการฝากเงินเทรดนั้นเจ๋งมานักต่อนัก เพราะคนที่เทรดเก่งและเป็นไม่มีความจำเป็นจะต้องระดมทุนเงินคนอื่นมาเทรดเลย
- ระวังพวกขายคอร์สแต่ต้องเปิดบัญชีผ่าน IB (ผู้เชิญชวนมาลงทุนเพื่อรับค่าคอมมิชชั่น) ตรงนี้เราต้องดูให้ดีว่าผู้สอนนั้นมีความรู้จริงไหม หรือตั้งใจเปิดคอร์สมาเพื่อกินค่าคอมมิชชั่นโดยเฉพาะ คือสอนด้วยแต่ต้องเปิดบัญชีผ่านเขาเท่านั้น เป็นต้น ก่อนจะเรียนกับใครจึงอาจขอดู Myfxbook ของเขาก่อน หรือถ้าเทรดกองทุนก็ควรดูว่าเขาเคยสอบผ่านจริงไหม และที่สำคัญยิ่งกว่าการสอบผ่านคือมีการถอนเงินต่อเนื่องหรือไม่ เป็นต้น
- ซื้อสัญญาณหรือซิกแนล (signals) ผ่านกลุ่มโซเชียลต่าง ๆ ให้คุณรู้ว่าจะต้องเข้าเทรด Buy หรือ Sell จุดไหน หรือ CopyTrade คือเป็นการคัดลอกเทรด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้จักคนที่เราเทรดตามดีแค่ไหน ถ้าโชคดีเราเจอคนเทรดเป็นจริง ๆ ก็ดีไป แต่บ่อยครั้งอาจพาเราล้างพอร์ตได้ง่าย ๆ อีกทั้งการเทรดตามซิกของคนอื่น หากเราไม่รู้วิธีการออกล็อตที่เหมาะสมก็อาจล้างพอร์ต เสียเงินฟรี ๆ ได้ง่ายเช่นกัน
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อยากกินปลาก็ต้องมีเครื่องมือและรู้จักวิธีที่จะหาปลาด้วยตนเอง เราจึงควรศึกษาหาวิธีทำเงินในตลาดด้วยตนเอง เราจะได้มีเครื่องมือทำมาหากิน และเอาตัวรอดได้ในระยะยาว จึงจะดีที่สุด
Forex ไม่เหมาะกับใคร?
ตลาดฟอเร็กซ์นั้นไม่ใช่ตลาดหมู ๆ และอย่างเขาว่ากันว่ามีคนแค่ 5% เท่านั้นที่ทำกำไรได้ในตลาดนี้ การเทรดมันเป็น Zero-sum game คือ ไม่ win ก็ lose
แล้วคนแบบไหนที่ไม่ควรเทรด Forex?
- คนที่นำเงินหมุนหรือกู้ยืมเงินมาเทรด เพราะมันมีความเสี่ยงสูงมากและจะทำให้ชีวิตคุณเดือดร้อนได้ง่าย ๆ
- ไม่ยอมศึกษาเรื่องการจัดการเงิน การเทรดแบบไม่เข้าใจหลักการออกล็อตที่เหมาะสม การบริหารความเสี่ยง โดยเน้นกด buy หรือ sell ตามความรู้สึก สัญชาตญาณ ใช้อารมณ์เทรด คนกลุ่มนี้เทรดในลักษณะที่ไม่ต่างกับการเล่นพนัน และมักอยู่รอดยากในตลาดในระยะยาว
- แพ้ไม่เป็น การเทรดมีแพ้มีชนะเสมอ ไม่มีระบบเทรดไหนที่จะช่วยให้คุณชนะได้ตลอดไป สิ่งสำคัญคือจะต้องยอมรับที่จะแพ้ให้เป็น และเรียนรู้จากข้อผิดของตนเอง
- คนที่หัวร้อนง่ายและมีพฤติกรรมเสพติด เพราะคนกลุ่มนี้อาจ overtrade ได้ง่ายในช่วงที่บันดาลโทสะ หรืออาจมีพฤติกรรมเสพติดการเทรดจนกระทบไม่เป็นอันทำกิจกรรมอื่น ๆ
Forex มีกลไกทำงานยังไง?
Forex เป็นคำที่ย่อมาจาก Foreign Exchange การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งการเทรด Forex ก็คือการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
โดยหลักแล้ว การซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง ๆ นั้นจะดำเนินการธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์เป็นหลัก แต่การเทรด Forex ที่เราเทรดกันตามโบรกเกอร์ออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่การเทรดแบบซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจริง ๆ การเทรด Forex แบบนี้ชื่อในวงการจริง ๆ คือการเทรด CFDs (Contract for Differences) หรือแปลได้ว่า สัญญาซื้อขายส่วนต่าง (ของราคา)
การเทรดสัญญาประเภทนี้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Leverage Ratios หรืออัตราทด เพื่อทำกำไรได้แบบทวีคูณ หรือถ้าติดลบก็ติดลบแบบทบต้นทบดอกเช่นกัน โดยตามหลักการทั่วไปของการเทรด Forex คือ เราจะต้องวางเงินหลักประกันส่วนหนึ่ง เพื่อให้เราสามารถเทรดมูลค่าสัญญาที่สูงกว่าจำนวนเงินที่เรามีได้ และเงินที่ใช้เป็นหลักประกันนี้เองที่เรียกว่า Margin
ลองอ่านบทความเรื่อง Margin คือ อะไร | เทรด Forex ต้องเข้าใจเรื่อง Margin ดูจะช่วยให้เข้าใจเรื่องการเทรดด้วยมาร์จินและศัพท์เทคนิคต่าง ๆ มากขึ้น และบทความเรื่อง Leverage Ratios Leverage Ratio คือ? | เข้าใจ Leverage ในการเทรด Forex
ดังนั้น สิ่งที่เราเทรดกันจึงไม่ใช่ค่าเงินจริง ๆ ไม่มีการซื้อขายค่าเงินเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเทรดสัญญาซื้อขายส่วนต่างราคาที่อ้างอิงราคาจากโบรกเกอร์และผู้ให้บริการสภาพคล่อง
อัตราแลกเปลี่ยนกับคู่เงินที่เทรด
เพราะการแลกเปลี่ยนค่าเงินนั้นเราจะต้องใช้สกุลเงินหนึ่งไปแลกซื้อสกุลเงินอีกสกุลหนึ่งเสมอ อัตราแลกเปลี่ยนจึงเรียกว่า คู่เงิน (currency pairs) เช่น EUR/USD, GBP/USD, XAU/USD
คู่เงินนั้นประกอบด้วย = Base Currency/ Quote Currency
สกุลเงินด้านหน้า หรือ Base Currency คือ สกุลเงินฐานและมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยเสมอ
สกุลเงินด้านหลัง หรือ Quote Currency คือ สกุลเงินที่บอกว่าจะต้องใช้สกุลเงินด้านหลังเท่าไหร่จึงจะแลกซื้อสกุลเงินด้านหน้าจำนวน 1 หน่วยได้

Major, Minor และ Exotic Pairs คือ
คู่เงินมีการจัดกลุ่มอัตราแลกเปลี่ยนไว้กว้าง ๆ สามประเภท ดังนี้
- Major Pairs หรือ คู่หลัก คือคู่เงินที่มีสภาพคล่องให้เทรดสูง นิยมซื้อขายกันสูง คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์ทั้งหมด โดยหลักแล้วเป็นคู่ที่มีค่าเงินดอลลาร์ประกอบ ได้แก่
- EUR/USD – Euros/US dollar
- USD/JPY – US dollar/Japanese yen
- GBP/USD – British pound/US dollar
- USD/CHF – US dollar/Swiss franc
- AUD/USD – Australian dollar/US dollar
- USD/CAD – US dollar/Canadian dollar
- Minor Pairs หรือ คู่รอง คือคู่ที่มีสภาพคล่องรองลงมา และไม่ใช่คู่เงินของดอลลาร์ เช่น
- GBP/MXN – British pound/Mexican peso
- GBP/CAD – British pound/Canadian dollar
- EUR/GBP – Euro/British pound
- GBP/JPY – British pound/Japanese yen
- NZD/JPY – New Zealand dollar/Japanese yen
- Exotic Pairs คือ คู่ที่มีสกุลเงินหลักกับสกุลเงินประเทศเล็ก ๆ เช่น EUR/TRY EUR/THB AUD/SGD เป็นต้น
แนะนำให้มือใหม่เริ่มเทรดจากคู่ที่มีสภาพคล่องสูงก่อน คือ EUR/USD และ GBP/USD เพราะสองคู่นี้มีปริมาณการเทรดสูง มีความเคลื่อนไหวมากตลอดทั้งวัน ค่าสเปรดหรือค่าธรรมเนียมต่ำ จึงเหมาะกับการเริ่มต้นทำความคุ้นเคยกับตลาด
เริ่มเทรดด้วยบัญชีทดลอง ทำยังไง?
สำหรับคนที่เริ่มต้นแบบไม่รู้อะไรเลย ควรจะเริ่มเทรดจากบัญชีทดลองจะดีที่สุด โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มีบัญชีทดลองให้บริการให้คุณเทรดได้แบบฟรี ๆ ไม่ต้องเติมเงินใด ๆ ทั้งสิ้น
แค่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่ตนเองสนใจ ลองหาส่วนที่เรียกว่า Demo Account หรือบัญชีทดลอง เมื่อเปิดพอร์ตแล้ว จะได้ชื่อ Login พร้อมกับ Password และชื่อเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งคุณจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปใส่เพื่อล็อกอินเข้าสู่พอร์ตทดลอง
ที่สำคัญต้องเลือกด้วยว่าจะเทรดแพลตฟอร์มไหน MetaTrader4 หรือ MetaTrader5 และเวลาใส่ข้อมูลเพื่อล็อกอินต้องเช็กให้แน่ใจด้วยว่าเราเปิดพอร์ตของ MT4 หรือ MT5
บางโบรกเกอร์จะให้จำนวนเงินแบบตายตัวมาให้ลองเทรด เช่น 50,000 ดอลลาร์ทดลอง หรือ 25,000 ดอลลาร์ทดลอง
บางโบรกเกอร์จะอนุญาตให้คุณกำหนดเองได้หมดเลย คือ Leverage และค่า Balance (ยอดเงินเริ่มต้น)
แต่ถ้าใครคันมือ อยากเทรดจริงเลย ขอแนะนำให้เริ่มจากพอร์ต Cent ก่อน การเปิดพอร์ต Cent คือเป็นพอร์ตขนาดหน่วยเงินเล็กที่สุด (100 Cent = 1 Dollar) เสมือนกับว่าเรากำลังเทรดพอร์ตสตางค์อยู่ พอร์ตนี้เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับมือใหม่เช่นกัน เราจะได้เข้าใจเรื่องปัจจัยจิตวิทยาที่เข้ามามีผลในการเทรดด้วยเงินจริงด้วย
เทรด Forex ยังไง? วิธีเทรด Forex เบื้องต้น
การเทรด Forex ไม่มีอะไรมากเลย ถ้าเราคิดว่าคู่เงินไหนจะขยับขึ้น เราก็ Buy (Long Position) ถ้าเราคิดว่าคู่ไหนจะขยับลง เราก็ Sell (Short Position)
ราคา Bid, Ask และค่า Spread
แต่สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ ราคาที่เราเห็นเวลาเทรดจริงจะมีสองราคาด้วยกันคือ Bid และ Ask โดยที่
- Bid Price คือ ราคาขายที่โบรกเกอร์เสนอให้เรา เป็นราคาที่เราใช้เปิดเทรด Sell
- Ask Price คือ ราคาที่โบรกเกอร์เสนอซื้อจากเรา เป็นราคาที่เราใช้เปิดเทรด Buy
ส่วนต่างของราคา Bid และ Ask นั้นก็คือค่าสเปรด (Spread) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่โบรกเกอร์หักสำหรับค่าบริการ
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าเกิดกด Buy หรือ Sell ไปแล้วมันขึ้นติดลบทันที ส่วนที่ติดลบนั้นคือค่า Spread นั่นเอง ไม่ว่าคุณจะเปิดเทรดทิศทางไหน ก็จะต้องถูกหักเสมอ

ค่าสเปรดนั้นมีทุกคู่ และแต่ละคู่จะมีค่าสเปรดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ความผันผวน และปัจจัยอื่น ๆ การมีค่าสเปรดต่ำก็จะยิ่งช่วยให้คุณมีต้นทุนในการเทรดต่ำลง ค่าสเปรดเป็นสิ่งที่คุณจะต้องคำนึงมาก โดยเฉพาะที่คนที่เทรดแบบเข้า ๆ ออก ๆ บ่อย ๆ จึงควรจะเลือกประเภทบัญชีที่มีค่าสเปรดต่ำ และตรวจสอบค่าสเปรดของคู่เงินที่ตนเองเทรดดูให้ดี ๆ
นอกจากค่าสเปรดแล้ว ยังมีค่าสวอป (Swap) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมในการถือคำสั่งข้ามคืน ซึ่งเป็นค่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของค่าเงินทั้งสองสกุลที่เราถืออยู่ โดยไม่จำเป็นต้องถูกหักเสมอไป ค่าสวอปมีทั้งบวกและลบขึ้นอยู่กับทิศทางที่เราเทรด โดยส่วนใหญ่แล้วค่าสวอปจะคิดคูณสามในวันพุธเพื่อชดเชยวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ดังนั้น หากใครเปิดเทรดทิ้งไว้ข้ามคืนวันพุธก็จะต้องคำนึงถึงค่าสวอปด้วย
ประเภทคำสั่ง (Market Price และ Pending Order)
การเทรด Forex เราสามารถเปิดคำสั่งเทรดได้ 2 แบบคือ Market Order กับ Pending Order
- Market Order คือ คำสั่งแบบซื้อขายทันที เช่น ถ้าเราเทรด EURUSD แล้วเรากด Buy ก็จะดำเนินการเทรดซื้อทันที
- Pending Order คือ คำสั่งที่เราตั้งค่าซื้อขายล่วงหน้าตามเงื่อนไขที่เรากำหนด โดยเราสามารถตั้งค่าราคาแบบ Buy/Sell Stop หรือ Buy/Sell Limit โดยที่
- Buy Stop เป็นการไล่ซื้อตาม คือถ้าราคาตลาดตอนนี้อยู่ที่ 1.0000 ถ้าเกิดเราตั้งค่า Buy Stop ไว้ที่ราคา 1.01000 ถ้าเกิดราคาขยับขึ้นมาจนถึงที่เราตั้งค่าไว้ เราจะเข้าซื้อเพื่อไล่ตามราคา ส่วน Sell Stop ก็ไล่ขายตาม คือเราจะตั้งค่าไว้ต่ำกว่าราคาตลาด ถ้าราคาขยับลงมาถึงจุดที่ตั้งค่าไว้ จะเป็นการเปิดคำสั่ง Sell เพื่อขายตาม
- ตรงกันข้ามกัน Buy Limit จะเป็นคำสั่งในกรณีที่ราคาตลาดอยู่ด้านบน เราจะรอให้ราคาย่อลงมาเพื่อเข้า Buy ในจุดที่ตั้ง Buy Limit ไว้ ส่วน Sell Limit ราคาตลาดจะอยู่ด้านล่าง และเราจะรอให้ราคาดีดตัวขึ้นมาจนถึงจุดที่เราตั้ง Sell Limit เพื่อที่เราจะรอ Sell ลงมานั่นเอง
ตัวอย่างวิธีเปิดเทรดในแอป MT4
วิดีโอแสดง วิธีเทรด Forex เบื้องต้น วิธีการเปิดคำสั่ง Market Order ในแอป MT4 บนอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ต
ตัวอย่างวิธีเปิดเทรด Buy Limit
สำหรับคำสั่งประเภท Pending Order คือ คำสั่งที่เราสามารถตั้งค่าไว้ล่วงหน้า คือเราไม่ต้องคอยเฝ้าหน้าจอ สามารถกำหนดราคาที่จะเข้า Buy หรือ Sell ได้เลย ตามเงื่อนไขที่เราต้องการ ในตัวอย่างนี้คือการเปิดคำสั่ง Buy Limit
คำสั่ง Buy Limit จะใช้ในกรณีที่เรารอให้ราคาลงมาด้านล่าง เพื่อที่จะเข้าไปช้อนซื้อ ดังนั้น ราคา Buy Limit ที่เราตั้งค่าจะต้องอยู่ต่ำกว่าราคาตลาดเสมอ
ตรงกันข้ามหากเป็นคำสั่ง Sell Limit จะเป็นการที่เรารอให้ราคาขึ้นไปด้านบน เพื่อที่เราจะได้ Sell ลงมา เราจึงตั้งคำสั่ง Sell Limit ไว้ล่วงหน้า ราคาที่ตั้งจึงอยู่ด้านบนราคาตลาดปัจจุบันเสมอ
ลองดูตัวอย่าง Buy Limit ในวิดีโอด้านล่างสำหรับ วิธีเทรด Forex เบื้องต้น
ตัวอย่างวิธีเปิดเทรด Buy Stop
คำสั่ง Buy Stop และ Sell Stop เป็นคำสั่งประเภท Pending Order หรือ คำสั่งที่เราสามารถตั้งค่าไว้ล่วงหน้าเช่นกัน
Buy Stop จะใช้ในกรณีที่เราต้องการเข้า Buy ตามราคา ถ้าราคาขึ้นไปถึงจุดที่เรากำหนด คือไล่ซื้อตามนั่นเอง ดังนั้น ราคา Buy Stop ที่กำหนดจะต้องอยู่สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน
Sell Stop จะใช้ในกรณีที่เราต้องการ Sell ตาม ถ้าเกิดว่าเป็นเทรนด์ขาลง เมื่อถึงจุดที่เราตั้งค่า Sell Stop เอาไว้ ออเดอร์จะเปิดขึ้นให้เรา Sell ตามลงไป
ลองดูตัวอย่าง Buy Stop ในวิดีโอด้านล่าง
Lot Size คือ อะไร ควรออกล็อต ยังไง?
Lot size คือ ขนาดของหน่วยที่เราใช้ในการเทรด Forex หรือเรียกว่า ล็อต “Lot” โดย 1 ล็อตมาตรฐาน (Standard Lot) เท่ากับ 100,000 หน่วย
ยิ่งออกล็อตมากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น ดังนั้น การออกล็อตควรเป็นไปตามสัดส่วนการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
อย่างที่กล่าวไปข้างบน 1 Lot มาตรฐานเท่ากับ 100,000 ของสกุลเงินฐาน (base currency) เช่น ถ้า EURUSD มีอัตราแลกเปลี่ยนคือ 1.0635 ถ้าจะเปิดเทรด 1 ล็อต เราจะต้องใช้ทั้งหมด 106350 หน่วย แปลว่าเราต้องใช้เงิน 106350 USD เพื่อแลกซื้อยูโรที่เป็นสกุลเงินฐาน
ลองนึกถึงการซื้อขายหุ้นดู เวลาเราเทรดหุ้นก็จะต้องระบุจำนวนหุ้นที่เราต้องการซื้อขาย ถ้าเทรดทองคำก็มีหน่วยเป็นทรอยออนซ์ หากเทรดน้ำมัน ก็จะมีหน่วยเป็นบาร์เรล คล้ายกันนั้น การเทรด Forex ก็จะต้องระบุจำนวน Lot ที่เราต้องการเทรดเช่นกัน
ประเภทของ Lot
Lot มีขนาด 4 แบบด้วยกันคือ Standard, Mini, Micro และ Nano ดังนี้
- Standard Lot = 100,000 หน่วยของ Base Currency
- Mini Lot = 10,000 หน่วยของ Base Currency
- Micro Lot = 1,000 หน่วยของ Base Currency
- Nano Lot = 100 หน่วย ซึ่งอันนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไหร่
ออกล็อตอย่างไรให้เหมาะสม?
การออก Lot size ที่มีสัดส่วนเหมาะสมจะช่วยให้คุณบริหารพอร์ต Forex ได้ดียิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้ว แนะนำไม่ให้เทรดเป็นจำนวนที่มากกว่า 2% ของเงินฝากในแต่ละไม้ที่เปิดเทรด หรือถ้าให้ดีก็อาจเริ่มที่คำสั่งละ 0.5% หรือ 1%
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือใช้เครื่องมือคำนวณ Lot Size เข้ามาช่วยอย่าง Forex Position Size Calculator ซึ่งเริ่มจะต้องใส่ค่าระบุลงไปดังนี้
- Currency Pair: ตรงนี้ให้เลือกที่เราต้องการเทรด
- Account Currency: เลือกสกุลเงินที่เราเทรด ถ้าเป็นบัญชีดอลลาร์ก็เลือก USD
- Account Size: คือยอดเงินในบัญชีของเรา
- Risk Ratio: คือเราต้องการเสี่ยงเงินจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละไม้ที่ออก
- Stop Loss, Pips: คือจำนวนปิปที่เราคำนวณ Stop Loss ไว้ เช่น Stop Loss ไม่เกิน 20 pips, 50 pips
- Trade Size: คือ ขนาดสัญญาที่เทรด ถ้าเป็น Standard Lot ก็ใส่ 1 ถ้าเป็น Mini Lot ก็ใส่ 0.1
ตัวอย่าง: สมมติว่าเราอยากเทรด USD/JPY ในบัญชีเทรดกองทุน FTMO โดยมีเงินทุนตั้งต้น 25,000 USD เราเลือก Risk Ratio ที่ 0.5% ต่อไม้ โดยคำนวณ Stop Loss ไว้ที่ 40 pips เมื่อกด Calculate เราจะได้ค่า Lot Size ที่ควรออกคือ 0.43 แปลว่าในหนึ่งไม้ที่เราออกนั้นเราจะยอมรับความเสี่ยงที่จะเสียเงิน $125
หรือลองใช้เครื่องมือช่วยคำนวณ Lot Size ของเว็บเรา (มีคู่คริปโตให้คำนวณได้ด้วย) ได้ในหน้านั้นมีรายละเอียดวิธีใส่ข้อมูลที่คล้ายกัน
จำกัดความเสี่ยงด้วย Stop Loss และ Take Profit
วินัยที่ดีในการเทรด Forex เบื้องต้น คือควรตั้งค่า Stop Loss (SL) และ Take Profile (TP) จริง ๆ คุณไม่จำเป็นต้องตั้งค่าคำสั่งพวกนี้เลยก็ได้ แต่แนะนำให้คนที่เริ่มต้นควรฝึกให้เป็นนิสัย เพราะการมีจุดคัทลอส (SL) หรือจุดเก็บกำไร (TP) ไว้ล่วงหน้าจะช่วยยับยั้งอารมณ์เราได้ ไม่ให้เผลอรอจนโดนลากยาว หรือเผลอกดปิดเร็วเกินจนขายหมู เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้าในกรณีเทรดกองทุนส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขให้ต้องกำหนด SL เสมอเพื่อจำกัดความเสี่ยงของเรา ดังนั้น ห้ามลืมการใส่ SL เด็ดขาด
- Take Profit คือ การกำหนดราคาที่เราอยากจะให้คำสั่งเทรดนั้นปิดลงโดยอัตโนมัติ การตั้ง TP จะช่วยให้เราเก็บกำไรมาเป็นของเราไว้ก่อน ช่วยแก้นิสัยโลภเพราะหวังว่าราคาจะไปต่อและได้กำไรเพิ่ม
- Stop Loss คือ การกำหนดราคาที่เราอยากจะให้คำสั่งปิดลงโดยอัตโนมัติเพื่อช่วยจำกัดการขาดทุน
เทคนิคการวาง Stop Loss และ Take Profit นั้นมีหลายวิธี ได้แก่
- บางคนนิยมเปิดเทรด ตั้งค่า SL และ TP และปล่อยให้ราคาแตะตามค่าที่ตั้งไว้ โดยไม่ไปยุ่งอะไรกับมันอีก
- บางคนใช้วิธีรอให้ราคาไปในทางที่เราได้กำไร และเลื่อน SL มายังจุด Breakeven (คือจุดคุ้มทุน หรือจุดที่เราเข้าเทรด)
- บางคนใช้วิธีการกำหนด TP หลายระดับ เช่น TP1 TP2 TP3 โดยใช้วิธีทยอยแบ่งปิด Order
- บางคนใช้วิธี Trailing Stop Loss. Trailing Profit คือ ใช้วิธีเลื่อนระดับ SL และ TP ไปตามทิศทางที่เราเทรด ซึ่งวิธีนี้เราจะต้องคอยติดตามตลาดเพื่อสังเกตเสมอว่าราคามีพฤติกรรมอย่างไร
ทั้งนี้ เทคนิคการวาง TP และ SL ขึ้นอยู่กับสไตล์การเทรดของแต่ละคน ถ้าเป็นมือใหม่ อยากให้ลองวาง TP และ SL ตามการกำหนด Risk Reward Ratio (RRR) ของเราไว้เสมอก่อน เพื่อที่จะได้ติดเป็นนิสัยและเราจะได้เข้าใจสถิติการเทรดของตนเองได้ง่ายขึ้น
การวิเคราะห์เชิงเทคนิค & ปัจจัยพื้นฐาน
สำหรับเทรดเดอร์ทุกคน อาวุธที่สำคัญในการใช้เทรดในตลาดคือ กลยุทธ์ (Strategy) ซึ่งกลยุทธ์ของแต่ละคนนั้นมักไม่เหมือนกันด้วยสไตล์การเทรด ระดับการยอมรับความเสี่ยง เป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วก่อนที่แต่ละคนจะออกออเดอร์ได้นั้นจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ตลาดก่อนเสมอ การวิเคราะห์มีสองประเภทหลัก คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์เชิงเทคนิค
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)
การวิเคราะห์ประเภทนี้คือการดูปัจจัยในโลกว่ามีอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนทิศทางของราคา โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะต้องอาศัยการติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟด มาตรการพิมพ์ธนบัตร การประกาศดัชนีเงินเฟ้อ การประกาศดัชนีนอนฟาร์ม ฯลฯ รวมถึงเหตุการณ์การเมืองรอบโลกที่อาจส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ เช่น ภาวะสงคราม การปิด/เปิดประเทศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
การติดตามปฏิทินเศรษฐกิจ (Economic Calendar) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่คนนิยมใช้ประกอบการตัดสินใจในการเทรด โดยปฏิทินเศรษฐกิจให้ข้อมูลเวลาที่จะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญ เวลาการประกาศรายงานของธนาคารกลาง การแถลงข่าวของผู้ว่าการธนาคารกลาง ดัชนี NFP ดัชนี GDP ดัชนี CPI ที่บ่งชี้สภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้น
ในช่วงเวลาที่มีการประกาศข่าวนั้น ค่าเงินที่เกี่ยวข้องมักมีความผันผวนสูง ดังนั้น คำแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งหัดเทรดใหม่ ๆ คือควรจะหลีกเลี่ยงการเทรดในช่วงเวลานี้ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่จะมีปฏิทินเศรษฐกิจให้คุณดูได้บนเว็บไซต์ หรือถ้าใครเทรดบน Tradingview ก็ดูได้สะดวกเหมือนกัน
การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis)
การเทรดแบบเทคนิคอล คือ การที่เทรดเดอร์ศึกษากราฟราคาเพื่อวิเคราะห์ว่าราคาจะขยับไปในทิศทางไหนต่อ ซึ่งนักเทรดสายเทคนิคอลเชื่อว่าสถิติในอดีตนั้นจะช่วงบ่งบอกรูปแบบพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ในอนาคต
นักเทรดกลุ่มนี้มักอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยในการวิเคราะห์กราฟ เช่น
- อินดิเคเตอร์ คือ ตัวชี้วัดที่อาศัยการคำนวณสถิติในอดีตเพื่อหาข้อมูลที่ช่วยบ่งบอกพฤติกรรมของราคา เช่น เทรนด์หรือแนวโน้ม (Trend) ค่าเฉลี่ย ความแข็งแกร่ง ปริมาณการซื้อขาย ฯลฯ โดยมีทั้งอินดิเคเตอร์แบบชี้วัดนำ (leading) และชี้วัดตาม (lagging)
- เครื่องมือวาดกราฟ คือเครื่องมือที่ช่วยในการวาดกราฟเพื่อให้เราสังเกตรูปแบบหรือพฤติกรรมราคาได้ดีขึ้น เช่น การตีเส้นแนวรับ แนวต้าน เส้นเทรนด์ไลน์ การตีกรอบราคา
- Price Action คือการสังเกตรูปแบบหรือพฤติกรรมของราคาโดยดูแค่กราฟเปล่า ๆ ไม่ใช่เครื่องมือใด ๆ ทั้งสิ้น โดยอาศัยดูจากการลักษณะของแท่งเทียนว่ามีสัญญาณที่บ่งบอกความแข็งแกร่งของเทรนด์ หรือการกลับทิศทางของเทรนด์หรือไม่
เทรดเดอร์บางคนก็ให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐาน และมองภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นตัวตั้งและใช้ความรู้เชิงเทคนิคัลในการอ่านกราฟอีกที แต่เทรดเดอร์จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เน้นดูกราฟเป็นหลักก็สามารถทำกำไรและเอาตัวรอดได้เช่นกัน
แม้แต่ในหมู่เทรดเดอร์ที่เทรดแนวเทคนิคัลล้วนก็ยังมีแนวทางการเทรดไม่เหมือนกัน บางคนอาจอาศัยอินดิเคเตอร์เพียงอย่างเดียว หรือบางคนใช้ประกอบกับ Price Action หรือบางคนก็เทรดแค่ Price Action กราฟเปล่า ๆ เท่านั้นก็ทำได้
ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้หมด อยู่ที่การนำไปใช้ เทคนิคส่วนตัว และสไตล์ความชอบของแต่ละคนเป็นหลัก
RRR และหลักการจัดการเงิน
สิ่งหนึ่งที่อยากให้นักเทรดทุกคนต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุดคือเรื่องของ Risk Reward Ratio หรือ RRR ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการจัดการเงิน (Money Management) ในการเทรดฟอเร็กซ์
การเทรดฟอเร็กซ์นั้นไม่มีกลยุทธ์หรือเทคนิคไหนที่จะทำให้คุณชนะได้ตลอด 100% บางครั้งเทรดเดอร์มือใหม่หลายคนมักให้ความสนใจกับเทคนิคที่มี win rate 75%, 80%, 90% พยายามหาเทคนิคที่จะเอาชนะตลาด จนลืมเรื่องของการจัดการเงินไปก็สามารถเทรดเจ๊งได้เหมือนกัน
การทำความเข้าใจเรื่อง RRR จะช่วยให้คุณรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าคุณวาง RRR เหมาะสม คุณจะไม่ต้องเทรดชนะ 75% เลยก็ได้ ต่อให้มีอัตราชนะแค่ 33% ถ้าแต่ละครั้งที่เราชนะ เราได้ผลตอบแทนสูงก็สามารถทำกำไรในภาพรวมได้เช่นกัน
Risk Reward Ratio คือ อัตราส่วนของความเสี่ยงต่อผลตอบแทน
สมมติว่าคุณมี RRR ที่ 1:2 แปลว่า ถ้าการเทรดแต่ละออเดอร์คุณกำหนดให้ตนเองเสียได้ $100 แต่เวลาได้กำไรจะได้ 2 เท่า คือ $200 แปลว่า กลยุทธ์ที่คุณใช้เทรดจะต้องมีอัตราชนะ 50% ขึ้นไป คุณถึงจะทำกำไรได้
20% | 30% | 40% | 50% | 60% | |
1:1 | ขาดทุน | ขาดทุน | ขาดทุน | เท่าทุน | กำไร |
1:2 | ขาดทุน | ขาดทุน | กำไร | กำไร | กำไร |
1:3 | ขาดทุน | กำไร | กำไร | กำไร | กำไร |
1:4 | เท่าทุน | กำไร | กำไร | กำไร | กำไร |
1:5 | กำไร | กำไร | กำไร | กำไร | กำไร |
จากตารางข้างต้นคุณจะเห็นว่าต่อให้คุณเทรดชนะแค่ 1 ครั้งจาก 5 ครั้ง คือมี win rate แค่ 20% แต่ถ้าใน 1 ครั้งที่เทรดชนะนั้นคุณได้กำไรมากกว่า 5 เท่าของจำนวนเงินที่เสี่ยงไป คุณก็ทำกำไรได้ในระยะยาวเช่นกัน
แต่! ข้อเสียของเทคนิคที่มี RRR สูง ๆ หรือมีอัตราชนะต่ำ คือ คุณมีโอกาสที่จะแพ้บ่อย และตรงนี้เองถ้าแพ้ติดต่อกัน คุณจะยิ่งเสียทั้งเงินในพอร์ต และสูญเสียความมั่นใจในระบบของตนเอง ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาของตนเองได้
ทางที่ดีคือเลือกระบบเทรดที่คุณมั่นใจ ไม่จำเป็นต้องเลือกระบบที่มี win rate 75, 80, 90% จริง ๆ ถ้า win rate สัก 50% ก็ถือว่าดีแล้ว เพียงแค่ RRR ควรจะเลือกอย่างน้อย 1:2 ขึ้นไป แล้วฝึกเทรดในพอร์ตทดลองหรือ backtest ดูให้คล่องก่อน คุณก็สามารถทำกำไรได้ไม่ยากเลย
เทรดเดอร์มืออาชีพให้ความสำคัญกับอะไรอีก
การเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความมีวินัย และความเพียรพยายาม การเทรดนั้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทุกคนล้วนต้องค้นพบสูตรของตนเอง แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณขัดเกลาความรู้และฝีมือตนเองจนอยู่รอดในตลาดได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร คือ
แผนการเทรด (Trading Plan)
การวางแผนการเทรดที่ดี รู้ว่าเรามีหลักเกณฑ์อะไรในการเข้าและออกเทรด รู้ว่าระบบเทรดของตนเองเหมาะกับสภาวะตลาดแบบไหน รู้ว่าตอนไหนที่ควรไม่เทรด ตอนไหนที่ควรเทรด การมีแผนที่ชัดเจนจะช่วยลดปัจจัยเรื่องของอารมณ์ออกไป ทำให้คุณเทรดอย่างมีระบบ ช่วยจัดการความเสี่ยง ให้คุณเทรดแบบไร้ใจ ไม่ overtrade จึงสร้างวินัยการเทรดที่ดีได้
จดบันทึกการเทรด (Trading Diary)
อย่างที่บอกว่าคนเราแต่ละคนล้วนมีสไตล์การเทรดไม่เหมือนกัน ต่อให้คน 100 คนใช้ระบบเทรดเดียวกันก็อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันเสมอไป การจดบันทึกการเทรดเก็บไว้จะช่วยให้คุณรู้ว่าสถิติการเทรดของตนเองเป็นอย่างไร ถ้าคุณเทรดครบ 100 คำสั่ง คุณอาจเริ่มรู้แล้วว่าตนเองถนัดเทรดคู่ไหนมากที่สุด มี win rate ดีที่สุดในตลาดเอเชียหรือตลอดอเมริกา SL ที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ เป็นต้น
Backtest.. Backtest and backtest
ถ้าคุณสังเกตนักเทรดมือโปรส่วนใหญ่ สิ่งที่พวกเขาทำกันในเวลาว่างคือการ Backtest นั่นเอง การ Backtest คือการซ้อมเทรดระบบของตนเอง โดยเลือกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในกราฟเพื่อดูว่าระบบของตนเองได้ผลหรือไม่อย่างไร คุณสามารถ Backtest ระบบได้ตามเวลาจริง เช่น ในฟังก์ชัน Replay ของ Tradingview จริง ๆ แล้ว การ Backtest นั้นไม่ใช่แค่การยืนยันว่าระบบของเราได้ผลหรือไม่ แต่ยังเป็นการช่วยฝึกเทรนสายตาของเราให้ชินกับดูกราฟที่ตรงกับเงื่อนไขระบบเทรดที่เรากำหนดนั่นเอง
Mindset
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากที่สุดของการเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จคือ Mindset หรือทัศนคติมุมมองต่อการเทรด คนที่เทรดแล้วมีกำไรสม่ำเสมอนั้นไม่จำเป็นต้องคนที่มีกลยุทธ์เยี่ยมยอด ไม่ต้องซื้อคอร์สราคาแพง ไม่ใช่คนที่ฉลาดกว่า ไม่ใช่คนที่วิเคราะห์ตลาดได้แม่นยำมากกว่าเสมอไป แต่คนที่มี Mindset ที่ดีในการเทรด คือ คนที่ยอมรับความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงได้ดี เข้าใจว่าตลาดมันมีขึ้นมีลง การเทรดก็มีแพ้และมีชนะเสมอ เทรดแบบไร้ใจ ไร้อารมณ์ มีวินัย ยอมรับในข้อผิดพลาดเพื่อนำไปพัฒนาตนเอง
สิ่งที่อธิบายไปเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนก็รู้ แต่คุณรู้ไหมคนทั่วไปไม่นิยมทำกัน เพราะอาจเสียเวลา ขี้เกียจ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณอยากจะเข้ามาอยู่ในตลาดนี้และเรียนรู้อย่างจริงจัง คุณต้องทุ่มเทกับเรื่องเหล่านี้ เพราะเชื่อเถอะว่ามันไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ และฟรี ๆ
เปิดบัญชีเงินจริง
ถ้าใครอ่านมาจนถึงตอนนี้แล้ว ยินดีด้วย ตอนนี้ถือว่าคุณพอเข้าใจเรื่องพื้นฐานแล้ว ถ้าใครยังไม่เคยเทรด Forex มาก่อนเลย ขอแนะนำให้เทรดพอร์ตทดลองก่อน แต่ถ้าใครพร้อมเทรดพอร์ตจริงแล้วก็ขอให้คุณโชคดี
mnogo interesno