ทำความรู้จักกับการเทรดแบบ ICT หรือ Inner Circle Trader ศึกษาพื้นฐานไอเดียการเทรดแบบ Smart Money Concept หรือ SMC หลักการพื้นฐานของการเทรดแบบ ICT
หนึ่งในนักเทรดที่เป็นที่พูดถึงและมีสาวกผู้ติดตามมากที่สุดคือ ICT หรือ InnerCircleTrader หรือชายที่ชื่อว่า Michael J. Huddleston ซึ่งปัจจุบันเขาสอนวิดีโอให้ทุกคนได้เรียนวิธีการเทรดแบบ Smart Money Concept ได้ฟรีในช่อง YouTube
ลองดูเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการเทรดแบบ SMC ได้ที่บทความ SMC ในการเทรด Forex คืออะไร? เรียนฟรีได้ที่ไหน และ Order Block คืออะไร ตัวอย่างการเทรด Order Block
พื้นฐานการเทรด ICT ที่ควรรู้
ในการเทรดสไตล์ ICT นั้นจะมีหลักการที่ควรรู้ รวมถึงคำศัพท์แปลก ๆ มากมายที่อาจให้หลายคนสับสนได้ง่าย วันนี้เลยจะมารวบรวมคำศัพท์และอธิบายตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
Liquidity
Liquidity ถ้าแปลเป็นไทยคือสภาพคล่อง แต่อาจจะไม่ตรงกับบริบทในการเทรดของ ICT เท่าไรนัก Liquidity เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ ICT โดย Liquidity นั้นมีสองประเภท คือ Buy-side Liquidity กับ Sell-side Liquidity
- Buy-side Liquidity คือ ระดับหรือบริเวณบนกราฟที่คนที่ถือขา sell จะวาง stop loss ไว้
- Sell-side Liquidity คือ ระดับหรือบริเวณบนกราฟที่คนที่ถือขา buy จะวาง stop loss ไว้
Liquidity จึงจะอยู่บริเวณด้านบนราคาสูงสุดหรือด้านล่างสุด ซึ่งเป็นจุดที่มักมากวาด stop loss ก่อนที่ราคาจะไปในทิศทางของมัน โดยหลายครั้งราคาก่อนที่มันจะลง มันขึ้นไปหา Buy-side liquiditiy ก่อน และก่อนที่มันจะขึ้นมันจะลงไปหา sell-side liquidity ก่อนนั่นเอง
ดังนั้น การเทรดแบบ ICT หลายคนบอกว่ามันเป็น Philosophy มากกว่ากลยุทธ์แบบเป็นรูปธรรม เพราะเราต้องมีความสามารถในการ read the tape คืออ่านตลาดว่ากราฟมันกำลังจะวิ่งไปหา liquidity ฝั่ง buy หรือ sell side

Displacement คืออะไร?
Displacement คือ price action ในลักษณะที่กราฟมีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง เช่น กราฟบินขึ้นเป็นแท่งสีเขียวติดต่อกันหลายแท่ง หรือมีการทุบลงที่เกิดจากแรงขายเป็นแท่งสีแดงติดต่อกันหลายแท่ง ลักษณะแท่งที่ทำให้เกิด displacement จะมีช่วงลำตัว (body) ของแท่งเทียนขนาดใหญ่ และแทบไม่มีไส้เทียน (wick) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแทบไม่มีแรงต้านจากราคาอีกฝั่งหนึ่ง
Displacement มักจะทำให้เกิด Fair Value Gap (ช่องว่างราคา) และ Market Structure Shift (การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาด)

หลักการ Power Three ของ ICT
เป็นหลักการ 3 ข้อพื้นฐานในการอ่านตลาดของ ICT คือประกอบด้วย 1) accumulation 2) manipulation และ 3) distribution
- Accumulation คือ การที่ราคาอยู่ในช่วงสะสมกำลัง ยังไม่เลือกทิศทางแน่นอน
- Manipulation คือ ช่วงที่ตลาด manipulate ปลุกปั่นหรือหลอกให้เราหลงทิศทาง
- Distribution/Expansion คือ ราคามีการแจกจ่ายไปในทิศทางของมันหลังจากที่มีการสะสมกำลังหรือพักตัวมาแล้วระยะหนึ่ง

Market Structure Shift
เรารู้กันดีว่า ในเทรนด์ขาขึ้นจะมีราคาสูงสุดหรือ high ที่ยกขึ้น และ low ก็ ยกขึ้น และในเทรนด์ขาลงก็จะกลับกันคือ ราคา high ยกลง และ low ยกต่ำลง
Market Structure Shift นั้นแปลง่าย ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดหรือโครงสร้างราคา หากโครงสร้างราคาในเทรนด์ขาขึ้นมีการเปลี่ยนแปลง เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ราคา high อาจไม่ high ที่สูงกว่า high ก่อนหน้า หรือมีราคา low ที่ต่ำกว่า low ก่อนหน้า
กลับกันนั้นในเทรนด์ขาลง ราคา low แทนที่จะลดต่ำลง กลับทำราคา low ที่สูงขึ้น ลักษณะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เราเรียกได้ว่าเป็น Market Structure Shift หรือนักเทรดสาย SMC บางกลุ่มก็จะเรียกการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างราคาเช่นนี้ว่า Change of Character (คาแรคเตอร์ของราคามันเปลี่ยนไป) นั่นเอง

Inducement
เพราะเทรนด์ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเส้นตรงตลอด ตลอดทางมันก็จะมีการย่อตัว ปรับฐานมากบ้างน้อยบ้าง การย่อตัวครั้งเล็ก ๆ หลายครั้ง อาจตามมาด้วยการย่อตัวครั้งใหญ่ที่ขึ้นไปกลบครั้งก่อนหน้า ซึ่งคำว่า Inducement จริง ๆ แปลว่าการชักนำหรือชักจูง ในบริบทนี้ Inducement มีความหมายคล้าย ๆ กันคือเป็นโซนที่ราคาสะสมตัว และชักจูงให้เราวาง SL เหนือ high (ในกรณีที่ sell) หรือต่ำกว่า low (ในกรณีที่ buy) ก่อนหน้า ก่อนที่ราคาจะเกิดปรับฐานครั้งใหญ่และออเดอร์ของเราก็จะถูกกิน SL ไป
ในการเทรดแบบ SMC หรือ ICT นั้นเขาก็จะมีการมาร์กช่วงที่ราคาทำ inducement โดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น $$$, บ้างก็ใช้ X กำกับ หรือบางทีก็ใช้ตัวย่อ idm (inducement) นั่นเอง
Inducement นั้นมีประโยชน์ในการหาจุดเข้าออเดอร์ สมมติว่าในเทรนด์ขาขึ้น ราคามีการย่อตัวเล็ก ๆ หลายครั้ง หากเราเทรดแบบที่ SL กว้างหน่อย เราก็อาจจะต้องเผื่อโซนที่ราคาอาจลงมากิน SL ได้ หรือถ้าหากเราเทรดในแบบ tight stop หรือวาง SL แคบ ๆ เราก็จะต้องมีแผนรู้ว่าเราจะเข้าจุดไหน โดยการมาร์กว่าเมื่อราคาย่อตัวครั้งใหญ่ผ่าน inducement นี้ลงมาแล้ว เราจึงจะเข้า buy หรือบางคนก็ใช้วิธีในการวาง buy limit order เป็นต้น

Fair Value Gap
หลักการเรื่อง Fair Value Gap ของ ICT นั้นไม่ค่อยต่างกันกับหลักการแท่งเทียนที่มี Imbalance คือ เป็นช่องว่างระหว่างแท่งเทียนที่ไม่มีไส้เทียนมาปิดบรรจบกัน หรือไม่มีไส้เทียนใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างแท่งเทียนเหล่านี้ โดยมีสมมติฐานว่าราคามีแนวโน้มจะกลับไปเติมเต็มช่องว่างที่ทำให้ตลาดไม่สมดุลดังกล่าว
Fair Value Gap (FVG) มักเกิดขึ้นเมื่อราคาเกิด displacement หรือมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของราคา เกิดเป็นแท่งเทียนยาว ๆ ติด ๆ กัน และทิ้งไว้เป็นช่องว่างระหว่างแท่งบนและแท่งล่าง ซึ่งราคามีแนวโน้มที่จะกลับมายังบริเวณ FVG นี้อีกครั้ง
และ FVG มักเป็นบริเวณที่ราคามีโอกาสตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่องว่างราคาในทามเฟรมใหญ่ ๆ เช่น รายสัปดาห์ หรือ รายเดือน
